

การเดินทางมายังเมืองดะไซฟุต้องใช้บริการของบริษัทนิชิเททสึ (Nishitetsu) จากสถานีต้นทางเทนจิน (Nishitetsu tenjin station) มีรถไฟท่องเที่ยวขบวนทะบิโตะ (Tabito) สีชมพูดอกบ๊วย ตรงมาศาลเจ้าเลย แต่บริการวันละ 1 เที่ยว เวลา 09:45 น. จากนั้นจะบริการระหว่างสถานี Futsukaichi – Dazaifu หรือถ้าขึ้นขบวนนี้ไม่ทัน มีรถไฟท้องถิ่น แต่ต้องเปลี่ยนขบวนที่สถานีฟุทสึไคจิ (Futsukaichi) ก่อน ขอแนะนำตั๋ว Fukuoka tourist city pass แบบวันเดียวใช้ได้ไม่จำกัด (One day pass) ทั้งรถไฟ รถไฟใต้ดิน รถประจำทาง ทั้ง JR และนิชิเททสึ ภายในเมืองฮะคะตะ และเมืองดะไซฟุ ราคา 1,340 เยน ซื้อได้ที่ศูนย์ข้อมูลท่องเที่ยวสถานี JR Hakata เปิดใช้งานวันไหน ก็ขูดตัวเลขเดือนกับวันที่ เป็นอันเรียบร้อยจ้า




จากหน้าสถานีรถไฟจะพบกับถนนสายช้อปเดินสู่ศาลเจ้า หรือโอะโมะเตะซันโดะ (Omotesando) ที่ขายของท้องถิ่นสารพัดอย่าง นับเป็นอีกหนึ่งสัญลักษณ์ของประเทศญี่ปุ่น ทั้งร้านอาหาร ร้านขนม ร้านขายของที่ระลึก ฯลฯ นอกจากความเพลิดเพลินแล้ว ยังเป็นการเรียนรู้วิถีชีวิคคนท้องถิ่นผ่านร้านค้าเหล่านี้ด้วย เช่น ร้านขนมหวาน หรือวะงะชิ (Wagashi) ร้านโมจิย่าง หรือแม้แต่สตาร์บัคส์ (Starbucks) ที่ออกแบบกลมกลืนไปกับความเป็นเมืองโบราณด้วยงานไม้

สตารร์บัคส์สาขานี้สวยอันดับต้นๆ ของโลก (ในจำนวนสตาร์บัคส์ทั้งหมด) ออกแบบโดยคุณเคงโงะ คุมะ (Kengo kuma) สถาปนิกผู้มีชื่อเสียงระดับโลก และเป็นผู้ออกแบบสนามกีฬาโอลิมปิก 2020 ด้วยงบประมาณที่ถูกลงจากที่สถาปนิกคนเดิมออกแบบไว้ถึงกว่า 1 แสนล้านเยน แถมเป็นงานออกแบบที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมด้วย และเนื่องจากเขามีความสนใจงานไม้ รวมทั้งศึกษาศิลปะ “การเข้าไม้” แบบโบราณโดยไม่ใช้ตะปูแม้แต่ตัวเดียว ซึ่งถือเป็นงานช่างชั้นสูง โดยสาขานี้ใช้ไม้ตกแต่งทั้งหมดประมาณ 2,000 แท่ง แต่ละแท่งมีความยาว 1 เมตรเศษ โดยไขว้เป็นแนวทแยงบนผนัง และเพดาน เมื่อเข้ามาอยู่ภายในแล้ว จึงรู้สึกราวกับเป็นที่หลบซ่อนจากโลกภายนอก แถมยังเป็นงานออกแบบที่สนองนโยบายเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมของสตาร์บัคส์ด้วย

เมืองดะไซฟุมีความสำคัญในฐานะที่เคยเป็นศูนย์กลางการปกครองของภูมิภาคคิวชูยาวนานถึง 500 ปี ระหว่างช่วงศตวรรษที่ 7 ในยุคนะระ (Nara ปีค.ศ.710-794) จนถึงศตวรรษที่ 9 ในยุคเฮอัง (Heian ปีค.ศ.794-1185) ก่อนเปลี่ยนแปลงการปกครอง และย้ายเมืองหลวงมายังฟุคุโอะกะจนถึงปัจจุบัน จึงมีสิ่งที่บ่งบอกความเป็นเมืองหลวงเก่าไว้หลายสิ่ง เช่น โทะฟุโระ (Tofuro) อาคารที่ทำการรัฐบาล (Site of dazaifu government office) ที่ตอนนี้เหลือเพียงซากหิน รวมทั้งวัดพุทธคันเซะอนจิ (Kanzeonji temple) ที่สร้างโดยสมเด็จพระจักรพรรดิเทนจิ (Emperor tenji) ในปีค.ศ. 746 ซึ่งได้ปรากฏในนวนิยายเรื่อง “The tale of genji” จากปลายปากกาของนางข้าหลวง (A court lady) ในยุคเฮอัง และวัดโคเมียวเซนจิ (Komyozenji temple) ที่สร้างในยุคคะมะคุระ (Kamakura ปีค.ศ.1185-1333) อันเป็นยุคที่โชกุนมีบทบาทต่อการปกครองแทนระบบจักรพรรดิที่ล่มสลายในยุคเฮอัง ปัจจุบันเป็นจุดชมใบไม้เปลี่ยนสี่ที่สวยงาม และที่ขาดไม่ได้คือศาลเจ้าดะไซฟุ พร้อมตำนานดอกบ๊วย และโมจิย่างไส้ถั่วแดงที่ยืนยาวมานานกว่า 1,300 ปี
ศาลเจ้าดะไซฟุ (Dazaifu tenmangu shrine)

ธรรมเนียมเมื่อเข้าสู่ศาลเจ้าคือการชำระความสะอาดที่เปรียบเสมือนการชำระจิตใจ วิธีปฏิบัติเริ่มจากล้างด้ามจับกระบวยด้วยการใช้มือข้างหนึ่งตักน้ำรินด้ามจับในลักษณะหักข้อศอก จากนั้นตักน้ำล้างมื้อทั้งสองข้าง และตักรินลงมือเพื่อล้างหน้า บ้วนปาก แล้วจบด้วยการทำความสะอาดด้ามจับอีกครั้ง คว่ำกระบวยพักไว้ เพื่อให้คนต่อมาใช้ต่อ

ศาลเจ้าดะไซฟุมีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของประเทศ โดยยกย่องว่าศักดิ์สิทธิ์ที่สุดถึงกับต้องหาโอกาสมาสักการะให้ได้สักครั้งในชีวิต เนื่องจากเป็นที่สถิตดวงวิญญาณของเทพเจ้าเทนจิน (Tenjin) ในศาสนาชินโต จึงมีคำว่าเทมมังงุ (Tenmangu) เพื่อสื่อความหมายการเป็นศาลเจ้าในศาสนาชินโต อันมีเทพเจ้าเทนจิน หรือเทพแห่งปัญญา (God of wisdom) สถิตอยู่ คนญี่ปุ่นนั้นจะมีความเชื่อว่าศาลเจ้าเป็นที่สถิตดวงวิญญาณของเทพเจ้า ซึ่งทำหน้าที่ปกป้องชาวเมืองให้อยู่เย็นเป็นสุข โดยเทพเจ้าจะมีหลายองค์ทำหน้าที่แตกต่างกันไป สำหรับเทพแห่งปัญญาจะทำหน้าที่ช่วยเหลือให้สมหวังเรื่องการศึกษา ทำให้แต่ละปีมีเด็กๆ และผู้ปกครองจำนวนมากหลั่งไหลมาขอพรเพื่อให้ตนเอง และลูกหลานประสบความสำเร็จ นอกจากนี้ยังมีความสวยงาม โดยเฉพาะการตกแต่งด้วยลวดลายดอกบ๊วยอันเป็นสัญลักษณ์ของเมือง และของศาลเจ้า เช่น บนบานประตู จั่ว หน้าบรรณ เชิงชาย ฯลฯ ผสมผสานกับงานไม้แกะสลักประดับดอกบ๊วยสีทองคล้ายเทคนิคลงรักปิดทองของไทย

นอกจากศาลเจ้าดะไซฟุแล้ว ศาลเจ้าคิตะโนะเทมมังงุ (Kitano tenmangu shrine) ที่เมืองเกียวโตก็มีความศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน อีกทั้งเป็นศาลเจ้าที่เกี่ยวพันกันตรงที่เป็นที่สถิตดวงวิญญาณของท่านสุงะวะระ มิจิซะเนะ (Sugawara michizane) ซึ่งตำนานเล่าว่าท่านมิจิซะเนะเป็นขุนนางในราชสำนักเกียวโตในยุคเฮอัง มีชีวิตอยู่ระหว่างปีค.ศ. 845-903 แต่ถูกลดชั้น และโดนย้ายมาปฏิบัติหน้าที่ที่เมืองดะไซฟุ จนสองปีต่อมาท่านเสียชีวิตลง แต่วิญญาณที่ไม่สงบได้ตามมาล้างแค้นด้วยการบันดาลให้เกิดอาเพทต่างๆ ในเมืองเกียวโต ทางราชสำนักเกียวโตจึงสร้างศาลเจ้าคิตะโนะเทมมังกุ และศาลเจ้าดะไซฟุ พร้อมอัญเชิญดวงวิญญาณของท่านมาสถิต ซึ่งเป็นต้นกำเนิดเทพเจ้าเทนจิน หรือเทพแห่งปััญญานับจนวันนี้เป็นเวลา 1,300 ปีแล้ว







เก็บผลบ๊วยภายในบริเวณศาลเจ้าดะไซฟุ
สิ่งที่ปรากฎอีกอย่างหนึ่งในตำนานคืออุเมะ (Ume) หรือดอกบ๊วย (Plum blossom) เพราะท่านมิจิซะเนะโปรดปราน และได้ติดตามท่านมาจากเกียวโตสู่ดะไซฟุ จนงอกงามเป็นบ๊วยต้นแรก และเติบโตเป็นสวนดอกบ๊วยหลายสายพันธุ์อยู่ทั่วศาลเจ้ากว่า 6,000 ต้น โดยต้นที่มีความสำคัญคือต้นที่ล้อมรั้วไว้ด้านหน้าศาลเจ้าชั้นใน ทำให้ที่นี่เป็นจุดชมดอกบ๊วยที่จะบานสะพรั่งในช่วงฤดูหนาวของปลายเดือนกุมภาพันธ์จนถึงต้นเดือนมีนาคม ก่อนสะคุระจะเบ่งบานตามมาในฤดูใบไม้ผลิ แต่ในวันที่เดินทางไปนั้นตรงกับฤดูฝน ทำให้อดยลโฉมดอกบ๊วย แต่กลับได้ยลโฉมต้นบ๊วย พร้อมกรรมวิธีการเก็บผลบ๊วยที่กำลังออกช่อเป็นผลสีเขียวๆ ที่กลมกลืนไปกับสีของใบ โดยวิธีเก็บ เจ้าหน้าที่จะนำผ้าใบมาขึงรองรอบต้นไว้ แล้วใช้ไม้สอยบ้าง เขย่ากิ่งช่วยบ้าง เพื่อให้ผลบ๊วยร่วงลงมา โดยเปลือกจะนุ่มๆ คล้ายผิวกำมะหยี่ และมีรสฝาดนิดๆ ซึ่งโดยทั่วไปจะนำมาดองเพื่อทำเหล้าบ๊วย พอเป็นเหล้าแล้ว ถ้าได้ดื่มก็เมาไม่รู้เรื่องเลยทีเดียว (ฮา) ว่ากันว่าหนุ่มญี่ปุ่นนั้นจะมีวิธีสังเกตสาวๆ ว่าเธอมีความใสมากน้อยแค่ไหน ก็ด้วยการให้ลองดื่มเหล้าบ๊วย ถ้าเธอเมาแปลว่ามีระดับความใสแบ๊วอยู่มาก (ฮา)


การแสดงพื้นบ้าน “นังคิงทะมะสุดะเระ” (Nankin tamasudare)

พิพิธภัณฑ์ดะไซฟุ (Dazaifu tenmangu mesuem)
อาคารพิพิธภัณฑ์ในบริเวณศาลเจ้าดะไซฟุ เก็บรวบรวมศิลปวัตถุ และข้าวของเครื่องใช้ขณะที่ท่านมิจิซะเนะยังมีชึวิตอยู่ แบ่งเป็น 4 หมวดคือ 1. Dazaifu tenmangu จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ภายในศาลเจ้า 2. Tenman-Tenjin จัดแสดงข้าวของเครื่องใช้ของท่านมิชิซะเนะ ลายมือเขียน รูปวาดบนไม้ รูปปั้นของท่าน ฯลฯ 3. Arms จัดแสดงชุดเกราะนักรบโบราณ พร้อมเครื่องประกอบชุดแต่งกาย และ 4. Matsuri จัดแสดงศิลปวัตถุที่ใช้ประกอบในเทศกาลต่างๆ เช่น หน้ากาก เครื่องดนตรี ภาพวาดขบวนแห่ ฯลฯ พิพิธภัณฑ์เปิดบริการทุกวัน (เวันวันจันทร์) 9.00-16.30 น. call : 092-922-8225
พิธีแต่งงานแบบศาสนาชินโต (Shinto wedding)



ร้านโมจิย่างบริเวณศาลเจ้าชั้นนอก


โมะจิย่าง หรืออุเมะงะเอะ (Umegae) ที่โอะโมะเตะซันโดะ
ตั้งแต่ร้านอาหารที่บริเวณศาลเจ้าชั้นนอกแล้วที่มีโมะจิย่างพร้อมเสิร์ฟ รวมทั้งที่โอะโมะเตะซันโดะ หรือถนนคนเดินสู่ศาลเจ้า สองข้างทางจะเต็มไปด้วยร้านโมะจิย่างไส้ถั่วแดง (Umegae หรือ Mochi rice cake) ซึ่งเป็นขนมทางวัฒนธรรมที่ตกทอดมายาวนานกว่า 1,300 ปีของชาวเมืองดะไซฟุ ซึ่งมีกรรมวิธีแตกต่างไปจากท้องถิ่นอื่นๆ นั่นคือการย่าง โดยส่วนประกอบหลักของขนมมีแป้งกับถั่วแดง สำหรับแป้งคือแป้งข้าวเหนียวที่หุงจนสุก ตำให้ละเอียด จนได้แป้งโมะจิสด จากนั้นปั้นเป็นก้อนกลม บิให้แบน ปั้นถั่วแดงกวนลงไปเป็นไส้ ห่อ และคลึงจนเป็นลูกกลม ก่อนบรรจุลงพิมพ์
การยืนดูวิธีทำโมะจินั้นเป็นความเพลิดเพลิน เพราะคนทำมีความชำนาญ ทำให้แต่ละลูกปั้นเสร็จอย่างรวดเร็ว และแทบจะโยนลงไปในพิมพ์โลหะได้แบบไม่พลาดเป้าเลย โยนปุ๊บปิดฝาย่างปั๊บ ไม่นานก็ได้โมจิย่างที่ส่งกลิ่นหอมยั่วยวน โดยบางร้านที่ขายดีมาก จะนำระบบสายพานเข้ามาใช้ บางร้านมีการปั๊มลายดอกบ๊วยลงไปด้วย เพื่อตอกย้ำสัญลักษณ์ความเป็นเมืองดอกบ๊วย โดยแต่ละร้านขายดีมากๆ และคิวยาวมากๆ ทำให้มีบรรยากาศที่สนุกสนาน ราคาต่อลูกราว 150 เยน แต่โดยมากจะซื้อกันเป็นกล่องๆ ละ 6 หรือ 12 ชิ้น ทีละหลายๆ กล่อง เพราะเป็นขนมท้องถิ่นที่นำไปใช้ในงานมงคลด้วย วิธีกินให้ได้รสชาติที่อร่อย คือกินตอนร้อนๆ แป้งจะหอมนุ่มเหนียวเข้ากันดีพอดีกับรสหวานของถั่วแดงกวน

ร้านขนมญี่ปุ่น หรือวะงะชิแห่งโอะโมะเตะซันโดะ
