Nawate & Nakamachi Shopping Street

จากปราสาทมัทสึโมโตะก็บ่ายมากๆ แล้ว เดินอีกเพียงนิดเดียวก็ถึงถนนสายช้อปที่มีมาแต่โบราณตั้งแต่ยุคเอโดะ จนเกิดชุมชนอยู่อาศัย และการค้าขึ้น โดยตั้งอยู่ห่างจากปราสาทราว 300 เมตร ห่างจากสถานีรถไฟ JR Matsumoto ราว 500 เมตร ขึ้นอยู่กับว่าจะเลือกมาจากทางไหน ถ้ามาจากสถานีรถไฟจะถึงถนนช้อปก่อน แต่ถ้ามาจากปราสาทก็ถึงถนนช้อปก่อน ปัจจุบันถนนช้อปทั้งสองสายกลายเป็นถนนสายวัฒนธรรมที่สะท้อนภาพลักษณ์เมืองปราสาทในอดีตไปแล้วเรียบร้อย แถมเก๋ไก๋ตรงที่มีทิวทัศน์เทือกเขาแอลป์ญี่ปุ่นอยู่รายรอบด้วย

สะพานเซนไซข้ามแม่น้ำ (คนไทยเรียกคลอง) คั่นระหว่างถนนนะวะเตะ และถนนนะกะมะจิ
ถนนน้องกบ จึงมีสัญลัษณ์กบ หรือถนนนะวะเตะ

ถนนสายแรกคือนะวะเตะ (Nawate) มีรูปปั้นกบเป็นสัญลักษณ์ เริ่มต้นจากเชิงสะพานเซนไซ (Sensai Bridge) เลียบขนานกับแม่น้ำสายเล็ก มีบรรยากาศแบบตลาดท้องถิ่นที่เรียงรายด้วยร้านค้าร่วม 50 ร้าน ทั้งร้านขายของที่ระลึก ร้านเครื่องปั้นดินเผา ร้านเครื่องประดับ ร้านผักสดผลไม้ ร้านขนมปัง ร้านขนมขบเคี้ยว หรือดะงะชิ (Dagashi) ฯลฯ และยังเป็นที่ตั้งของศาลเจ้าโยฮะชิระ (Yohashira Shrine) ประจำท้องถิ่นด้วย

ถนนนะวะเตะ สองข้างทางเรียงรายด้วยร้านค้าท้องถิ่น ให้อารมณ์แนวชนบท แถมยังมีแนวเทือกเขาล้อมรอบอยู่ อากาศก็เย็นสบายดีมากๆ

จากถนนนะวะเตะ จะมีเส้นทางตัดผ่านเชื่อมเข้าสู่ถนนช้อปโบราณอีกสายคือถนนนะกะมะจิ (Nakamachi) คำว่า Naka หมายถึงศูนย์กลาง Machi หมายถึงเมือง จึงเป็นถนนการค้าใจกลางเมืองนั่นเอง

เส้นทางระหว่างถนนนะวะเตะไปยังถนนนะกะมะจิ

ถนนนะกะมะจิแต่เดิมคือเป็นส่วนหนึ่งของทางหลวงสายเก่าเซงโคจิไคโดะ (Zenkoji Kaido) ที่เชื่อมวัดเซงโคจิ (Zenkoji Temple) สู่จังหวัดนะโงะยะ (Nagoya) และจังหวัดเกียวโต นับเป็นเส้นทางการค้าสำคัญในอดีต โดยมีร้านกิโมโน และโรงผลิตสาเกจำนวนมาก ทำให้เป็นย่านอาคารโกดัง (Storehouses) หรือคุระ (Kura) ที่ได้รับการอนุรักษ์ไว้

ย่านการค้าเก่าแก่ตั้งแต่ยุคเอโดะ ปัจจุบันได้รับการบูรณะให้สวยงาม จนกลายเป็นจุดท่องเที่ยวสำคัญ

ปัจจุบันอาคารโกดังต่างๆ ดัดแปลงเป็นร้านค้า โดยเฉพาะร้านจำหน่ายผลงานศิลปะรูปแบบต่างๆ ร้านงานฝีมือ ร้านอาหาร คาเฟ่ ฯลฯ โดยมีอาคารเด่นคือคุราสสิคกัง (Kurassic-kan) ในปีค.ศ. 1923 ซึ่งเป็นพื้นที่จัดกิจกรรมทางวัฒนธรรม ห้องดื่มชา คาเฟ่ และยังเปิดให้เข้าชมโครงสร้างภายในอาคาร ห้องปูเสื่อทะทะมิ และสวนญี่ปุ่นเล็กๆ

ถ้าเดินอยู่บนถนนนะกะมะจิจะเห็นกำแพงนะมะโกะเกือบทุกหลัง

จุดเด่นของถนนสายนี้อยู่ที่กำแพงนะมะโกะ (Namako Wall) หรือกำแพงดินครอบด้วยสี่เหลี่ยมลายทะแยงสีขาวที่ปรากฎในอาคารแต่ละหลังด้วย นับเป็นภูมิปัญญาท้องถิ่นที่ตกทอดมาตั้งแต่ยุคเอโดะ โดยพบมากตามอาคารโกดัง บ้านพักซามูไร และอาคารปราสาท เพื่อรักษาอาคารให้ใช้งานได้ยาวนาน จึงเป็นเอกลักษณ์ที่แต่งแต้มให้ถนนสายนี้มีบุคลิกพิเศษ

คาเฟ่เก๋ๆ แทรกตัวอยู่ร่วมกับอาคารที่ยังคงรูปแบบดั้งเดิมในย่านการค้าดั้งเดิม

ร้านจิคุฟุโดะ (Chikufudo) ร้านขนมหวานญี่ปุ่นแบบดั้งเดิม หรือวะงะชิ (Wagashi) เป็นขนมทางวัฒนธรรมที่สะท้อนความละเมียดละไม มีจุดเริ่มต้นจากการเปิดท่าเรือพาณิชย์นานาชาติค้าขาย และนำเข้าวัตถุดิบต่างๆ จากตะวันตก เช่น แป้ง น้ำตาล ฯลฯ ผสมผสานกับงานฝีมืออันประณีตของราชสำนักเกียวโต ทำให้วะงะชิเป็นขนมที่สวยงาม และอร่อย นักกินสามารถพบได้ทั่วไป ทั้งในห้างสรรพสินค้า และถนนสายช้อปต่างๆ

หน้าร้านจิคุฟุโดะ มีกำแพงนะมะโกะช่่วยยืดอายุการใชังานด้วย แต่บางคนก็บอกว่าช่วยทำให้หนักเป็นเบายามเกิดเพลิงไหม้
ร้านวะงะชิ หรือร้านขนมหวานญี่ปุ้นแบบดั้งเดิม

ร้านจิคุฟุโดะมีจุดขายคือเกาลัด (Chestnut) หรือคุริ (Kuri) ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่มีแหล่งปลูกชื่อดังในเมืองโอะบุเสะ (Obuse) ทางตอนเหนือของจังหวัดนะงะโนะ ทั้งขนมหวานหน้าร้าน

ขนมหวานญี่ปุ่นนานาชนิด

ภายในร้านที่เสิร์ฟมื้อน้ำชายามบ่ายพร้อมของว่าง และอาหารชุด สำหรับมื้อน้ำชา จะมีชาสองแบบคือคมบุฉะ (Conbucha) หรือชาบดจากสาหร่ายทะเล (Powdered kelp) และมัทฉะ (Maccha หรือ Match) หรือชาเขียวบดจากใบชา (Powdered green tea) สำหรับพิธีชงชา (Ceremonies) อันเป็นธรรมเนียมเก่าแก่ ทำให้คิดย้อนไปหลายปีก่อนโน้นที่เคยเข้าร่วมพิธีชงชาแบบส่วนตัว จำได้ว่าแทบไม่กล้าหายใจ ช่างขลัง ลึกซึ้ง และงดงาม

วิวจากในร้าน มองออกไปตอนลมพัดแรง เห็นใบไม้ปลิวว่อน

มัทฉะถ้วยนี้ชงแบบดั้งเดิมด้วยแปรงไม้ไผ่ และเสิร์ฟในชามกระเบื้อง ส่วนขนมมีให้เลือก 4 แบบ ได้แก่ โยกัง (Yokan) หรือเค้กเยลลี่เกาลัด (Jelly cake made from chestnut) คุริโมะนะกะ (Kuri monaka) หรือเวเฟอร์เกาลัด คุรินโดะ (Kurindo) หรือเค้กไข่เกาลัดบด (Soft cake made from mushed chestnut) สุดท้ายคือโฮซัง (Housun) หรือขนมปังกรอบถั่วแดง (Cracker made from red beans) ส่วนตัวชอบรับประทานโยกัง อีกทั้งยังเป็นการจับคู่กับมัทฉะที่ขายดีอันดับหนึ่งด้วย เนื้อโยกังให้รสเกาลัดที่เข้มข้น แต่ละมุน และหวานอ่อนๆ เมื่อกินกับเครื่องดื่มติดขมเบาๆ จึงเข้ากันดี มื้อนี้ย่อมเยาอีกเช่นเคยเพียง 626 เยน และยังมีไอศกรีมหลายรสชาติ เช่น เกาลัด องุ่นแดง ชาเขียว และวานิลลา รวมทั้งขนมหวานอื่นๆ จากเกาลัด เช่น โมจิเกาลัด เยลลี่เกาลัด น้ำแข็งใสเกาลัด ฯลฯ

ชาเขียวดื่มคู่กับอะไรก็อร่อย โดยเฉพาะโยกัง จะกินขนมก่อนแล้วค่อยตามด้วยชา

ขณะดื่มด่ำกับช่วงเวลาอร่อยนั่นเอง ลมจากภายนอกได้พัดรุนแรง จนใบไม้ปลิวว่อนขึ้นมา เมื่อมองผ่านกระจกที่เป็นสวน ทำให้ต้องลุ้นว่าจะมีอะไรลอยทะลุเข้ามาไหมนะ (ฮา) โชคดีที่ฝนตก ทำให้ความรุนแรงของลมอ่อนกำลังลง ระหว่างรอที่จะออกจากร้าน กลับครุ่นคิดถึงอาหารชุดที่น่ารับประทานไปทั้งหมด ประกอบด้วยข้าวอบเกาลัดที่เสิร์ฟพร้อมผักท้องถิ่นต่างๆ ในที่สุดก็เลือกหนึ่งในนั้น ได้แก่ ชุดยะมะกะเทโชกุ (Yamaga Teishoku) เพียง 1,890 เยน

อาหารชุุด ข้าวอบเกาลัด ปลาเทร้าต์ต้มเค็ม และเครื่องเคียง

ข้าวอบเกาลัดมีความนุ่มเหนียว และหวานหอมจากผลเกาลัดต้มสุก ก่อนเสิร์ฟลงตระกร้าประดับใบสะสะ (Sasa) ใบไผ่ชื่อดังของจังหวัดนีงะตะ ส่วนปลาเทร้าต์สายรุ้ง (Rainbow trout) นำมาต้มเค็มเหมือนต้มปลาตะเพียนของไทย จนก้างเปื่อยยุ่ย รสปลาผสมผสานทั้งรสเค็ม และรสหวาน ส่วนเนื้อปลาแน่น และมีปริมาณมาก ทั้งที่ปลาตัวเล็ก ส่วนเครื่องเคียงผักดองต่างๆ อดชื่นชมไม่ได้ เพราะไม่ว่าจะไปเมืองใดก็ตาม สิ่งที่เห็นตลอดคือผักท้องถิ่นที่นำมาแปรรูปเป็นผักดอง ซึ่งสร้างมูลค่าเพิ่ม รวมทั้งถั่วต่างๆ จึงเป็นอีกหนึ่งมื้อที่อิ่มหนำสำราญ ขณะที่ภายนอกฝนก็หยุดพอดี ลมสงบ และมืดเหมือนสองสามทุ่ม ทั้งที่ยังไม่หกโมงเลย

ยามค่ำจากหน้าสถานีรถไฟมัทสึโมโตะ นั่งรถลายจุดจากศิลปะลายจุดของศิลปินดังเที่ยวชมเมือง

ไปให้สุดแล้วหยุดที่ราเมงรอบดึกที่สถานีรถไฟมัทสึโมโตะสำหรับคนนอนดึก หรือเดินทางมาถึงเมืองนี้ดึกๆ ซึ่งรสจ้ดจ้านมากๆ ส่วนพ่อค้าก็เป็นมิตรมากๆ

 

More Information : *ถนน Nawate เดินจากปราสาทมัทสึโมโตะราว 300 เมตร เดินจาก JR Matsumoto ราว 500 เมตร/ *ถนน Nakamachi เดินจาก JR Matsumoto ราว 300 เมตร เดินจากปราสาทมัทสึโมโตะราว 500 เมตร *ร้าน Chikufudo เปิด 08:00 – 18:00 น. โทร. 0263 – 36 – 1102/ *ร้านค้าส่วนใหญ่ที่ Nawate และ Nakamachi เปิดบริการ 10:00 – 19:00 น.